เขียนโดย เว็บมาสเตอร์สังฆมณฑลเชียงใหม่
กลุ่มชาติพันธุ์ชาวคะฉิ่น
ชาวคะฉิ่น เป็นชาวเผ่าที่ดำรงอยู่อย่างเงียบเชียบในประเทศไทยมาแล้วหลายสิบปี ตั้งแต่รุ่นคนรุ่นพ่อแม่ที่ไม่มีสัญชาติไทย
กระทั่งคนรุ่นใหม่ที่เกิดในเมืองไทย เป็นคนไทยเรียบร้อย ชาวคะฉิ่นตั้งบ้านเรือนอยู่เพียงหมู่บ้านเดียวเท่านั้นในประเทศไทย ที่บ้านใหม่สามัคคี ตำบลเมืองนะ อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ เป็นหมู่บ้านแห่งเดียวเท่านั้นในประเทศไทย ที่มีชาวเขาเผ่านี้อาศัยอยู่เป็นกลุ่มก้อนอย่างมั่นคง
ชาวคะฉิ่นเป็นชาวเขาเผ่าหนึ่งที่อพยพหลบภัย หนีร้อนมาพึ่งเย็นในประเทศไทยเช่นเดียวกับชาวเขาเผ่าอื่นๆ ดั้งเดิมชาวเขาเผ่าคะฉิ่นมีวัฒนธรรมเป็นของตนเองอย่างเด่นชัด ตั้งถิ่นฐานอยู่อาศัยและเร่รอนไปในรัฐต่างๆ ของดินแดนพม่าและดินแดนจีน โดยเฉพาะในดินแดนรัฐคะฉิ่นที่อยู่ทางตอนเหนือสุด ติดต่อกับเทือกเขาหิมาลัย รัฐฉาน ดินแดนของชาวไทยใหญ่ และฆณฑลคุนหมิง ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนและอินโดนีเซีย
แต่สิ่งที่เป็นเสมือนสัญลักษณ์และเป็นศูนย์รวมจิตใจที่สำคัญที่สุดของชาวคะฉิ่นทุกเผ่าพันธุ์ก็คือ "เสามะเนาชะโดง" ที่เป็นเสาสูงหลายๆต้น เขียนสีลวดลายและสัญลักษณ์ต่างๆ ของชาวคะฉิ่น ที่จะเห็นได้จากทุกหมู่บ้านของชาวคะฉิ่น ไม่ว่าจะเป็นชาวคะฉิ่นกลุ่มย่อยกลุ่มไหนๆ ก็จะมีเสามะเนาชะโดงเป็นศูนย์รวมจิตใจตั้งเด่นเป็นสง่าอยู่ด้วยทุกแห่ง
ไม่มีหลักฐานว่าชาวคะฉิ่นเหล่านี้เดินทางเข้ามาในไทยตั้งแต่เมื่อใด แต่การมาพบกันโดยบังเอิญของชาวคะฉิ่นหลายๆกลุ่ม ในประเทศไทยเมื่อหลายสิบปีที่ผ่านมา ทำให้เขาเหล่านั้นรวมตัวกันอย่างแน่นเฟ้น และเริ่มมองหาพื้นที่ที่จะอยู่ร่วมกันเป็นหมู่บ้านของชาวคะฉิ่นโดยเฉพาะ และในที่สุด ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในปี พ.ศ. 2525 ยี่สิบกว่าปีที่ผ่านมา ชาวคะฉิ่นก็สามารถตั้งหมู่บ้านได้เป็นหลักเป็นแหล่งที่บ้านใหม่สามัคคี ตำบลเมืองนะ อำเภอเชียงดาว โดยมีคณะคะฉิ่นกลุ่มย่อยทั้ง 6 กลุ่มอยู่ร่วมกันอย่างครบครัน ทั้งหมดอยู่ภายใต้ความอุปถัมภ์ของโครงการหลวง
ในปัจจุบัน ชาวคะฉิ่นจึงเริ่มเปิดประตูบ้านเพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยว แสดงให้ชาวไทยทั่วไปเห็นถึงวิถีชีวิตและภาพลักษณ์อันงดงามของชนเผ่าตน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น